วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา


วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
 
        วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์
     
     วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน  ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
 
     วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน
 
วันออกพรรษา วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก
วันออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา
 

ความสำคัญของวันออกพรรษา

 
วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลดังนี้
 
      1. หลังจากวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
 
      2. เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชน
 
      3. ในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือและความสามัคคีกัน
 
      4. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป
 

ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา


     เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร)  เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า
 
     “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”
 

การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย

    
     วันออกพรรษา เป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำทานรักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ
 
     นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว”
 
วันออกพรรษา 2554 
วันออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลก
ทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ
 
     คำว่า “ตักบาตรเทโว” มาจากคำเต็มว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ”  คือการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงบยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ) ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ
 

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

 
      ในเทศกาลออกพรรษา มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
 
       1. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมมูล
 
      
2. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจดังมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้
การปวารณา จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้าน เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น
 

 วัตถุประสงค์ของกิจกรรมวันออกพรรษา

 
     1. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษารวมทั้งหลักธรรม เรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติ
 
     2. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในวันออกพรรษา และสามารถเลือกสรรหลักธรรม คือปวารณา ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนและสังคม
 
     3. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคือ ปวารณา
 
     4. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้งและตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา
 
     
5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีและปฏิบัติตนตามหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนได้อย่างถูกต้อง

วันออกพรรษา หรือวันมหาปวารณา
 
วันมหาปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือน
เรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์
 
         เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่เมืองสังกัสสะนครนั้น พระองค์ทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าเป็น “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก”
วันออกพรรษา ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิต ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตัวเตือน ทั้งกาย วาจา ใจ ส่วนผู้ถูกตักเตือนก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้กล่าวตักเตือน โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันโดยมีความหมายว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะคือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี และด้วยการสงสัยก็ดี”
ประเพณีของชาวพุทธที่นิยมกระทำในเทศกาลออกพรรษาคือ 
 
วันออกพรรษา-ตักบาตรเทโวโรหณะ
 
ประเพณีตักบาตรเป็นประเพณีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล
 
     1. ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ โดยในหลายที่ยังทำเป็นข้าวต้มลูกโยน มาไว้สำหรับใส่บาตรการตักบาตรเทโวเริ่มมาตั้งแต่ตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมใจกันนำภัตตาหารมาถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จนั้นมีจำนวนมาก บางพวกที่อยู่ห่างจึงไม่สามารถใส่อาหารลงในบาตรได้ จึงต้องทำข้าวให้เป็นก้อน แล้วโยนใส่บาตร จนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
     
     ตักบาตรเทโว หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษาตามความเชื่อของพระพุทธศาสนิกชนว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา
 
     
“เทโว” ย่อมาจากคำว่า “เทโวโรหนะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก หมายถึง เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิณาณ แล้วทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองคุณพระมารดา ซึ่งหลังจากประสูติพระองค์ได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ 7 หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชน พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น บางวัดก็ทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน
พิธีทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อนไปช้าๆ นำหน้าพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณรถือบาตรเดินตามไปโดยลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารมาเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ตามแนวทางที่รถบุษบกนั้นจะผ่านเพื่อตักบาตร ของที่นิยมใช้ตักบาตรเทโว ซึ่งนอกจากเป็นข้าวปลาอาหารทั่วๆ ไปแล้วยังมีข้าวต้มมัดใต้และข้าวต้มลูกโยนอีกด้วย
 
    การที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่เพียงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เนื่องจากมีพระประสงค์จะให้พระพุทธมารดาได้บรรลุโลกุตรธรรมอันเป็นธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้
 
     
2. ประเพณีทอดกฐิน ถือเป็นกาลทาน ที่เป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง โดยมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษาคือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12
 
 
มหากฐินสามัคคีณ วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี
 
ประเพณีทอดกฐินมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษา
 
      นอกจากประเพณีที่ถือปฏิบัติในวันออกพรรษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมและมีผู้สนใจไปร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง คือ การชมบั้งไฟพญานาค ซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้นคือวันออกพรรษา ซึ่งจะมีพุทธศาสนิกชนไปรอชมบั้งไฟกันทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะอำเภอโพนพิสัยที่มีปริมาณบั้งไฟขึ้นเยอะกว่าที่อื่นๆ

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันออกพรรษา

กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัวในวันออกพรรษา

 
      1. ในวันออกพรรษา แต่ละครอบครัวก็ช่วย ทำความสะอาดบ้าน  ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน
 
      2. ศึกษาเอกสารและสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม การปวารณาและแนวทางปฏิบัติในครอบครัว
 
      3.สมาชิกในครอบครัว ปรึกษา หารือ หาแนวทางในการป้องกันการแก้ปัญหา โดยใช้หลักธรรม คือ ปวารณา
 
     4. วันออกพรรษา นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน
 
     5. ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมเจริญภาวนา ในกรณีที่เป็นวันหยุดเนื่องในวันออกพรรษา

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษาในวันออกพรรษา

 
      1.ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
 
      2.ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม เรื่องปวารณาและแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา
 
      3. ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
 
      4. ครูให้นักเรียนจัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีกับพฤติกรรมที่ไม่ดี และวางแผนพัฒนาพฤติกรรมไม่ดีให้น้อยลง
 
     5. ประกาศเกียรติคุณนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
 
      6.ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เจริญภาวนา ในกรณีที่เป็นวันหยุด และกิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
 
ปักธงธรรมจักร วันออกพรรษา 
ปักธงธรรมจักรหน้าบ้านหรือสถานที่ราชการในวันออกพรรษา

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงานในวันออกพรรษา

 
     1. ทำความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
 
     2. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน
 
     3.จัดให้มีการบรรยายธรรมและสนทนาธรรม
 
     4. ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต
 
     5. หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม ในกรณีที่เป็นวันหยุด
 
     6.จัดทำป้ายนิเทศเกี่ยวกับอุดมการณ์ในการทำงานโดยมีเป้าหมายจะละเว้นการกระทำชั่วในเรื่องใดๆ และกิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
 

กิจกรรมเกี่ยวกับสังคมในวันออกพรรษา

 
      1. วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์เรื่องวันออกพรรษาโดยใช้สื่อทุกรูปแบบ
 
      2. จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษารวมทั้งหลักธรรมเรื่อง ปวารณา และแนวทางปฏิบัติเพื่อเผยแผ่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และตามสถานที่ชุมชน เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่างๆ
 
      3. เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมศาสนา เช่น  ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล สวดมนต์
 
      4. รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่างๆ ให้ลด ละ เลิก อบายมุข และให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด
 
      5. ประกาศเกียรติคุณสถาบันหรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
 
      6. รณรงค์ให้มีการรักษาสภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ
 
     7. จัดประกวด สวดสรภัญญะ บรรยายธรรม คำขวัญ บทร้อยกรอง บทความเกี่ยวกับวันออกพรรษา และกิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
 

ประโยชน์จะได้รับจากวันออกพรรษา

 
      1. พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม เรื่องปวารณา และแนวทางปฏิบัติ
 
     2.พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม คือ ปวารณา
 
      3. พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
 
      4. พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง  
 
 
อ้างอิงจาก

วันปิยมหาราช

ความเป็นมา
๒๓ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคมส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น
          ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์  

พระราชประวัติ

    พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฬ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖
    ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร
    นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช ๒๔๑๖ ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน
    ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา
    หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์




พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑

       พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป
  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒
         เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

อ้างอิงคณะกรรมการสวัสดิการ สำนักนายกรัฐมนตรี. ๒๕๔๖. เทิดพระเกียรติ ๑๕๐ ปี สมเด็จพระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ. คณะกรรมการสวัสดิการ สำนักนายกรัฐมนตรี.
สุภักดิ์ อนุกูล. 2530. วันสำคัญของไทย.กุรงเทพฯ. อักษรบัณฑิต.
http://www.lib.ru.ac.th/journal/oct/oct23_ck_index.html

เทศกาลกินเจ

      คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
      ในภาษาจีนมีคำหรือวลีที่ใช้อักษรแจ (เจ, 齋/斋) เป็นตัวประกอบร่วมด้วยหลายคำ แต่คำว่าโป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒) แปลว่า ศีลบริสุทธิ์แปดประการ อันหมายถึง อุโบสถศีล ซึ่งเป็นศัพท์ของทางพุทธศาสนา การแปลและเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายวัตรปฏิบัติของการกินเจผิดตามไปด้วยว่า “การกินเจต้องถือศีลข้อวิกาลโภชน์” หรือการงดกินของขบเคี้ยวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลแปด ทั้งๆที่โรงครัวของศาลเจ้าหรือโรงเจที่เปิดเลี้ยงผู้คนในช่วงเทศกาลกินเจล้วนแต่มีอาหารมื้อเย็นให้กับผู้เข้าไปกิน ยิ่งวันที่มีการประกอบพิธีกรรมในตอนค่ำยังมีอาหารมื้อค่ำบริการเสริมให้เป็นพิเศษด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเขาถือเพียงศีลห้าที่เป็นนิจศีล ไม่ได้ครองศีลแปดอย่างที่หลายคนเข้าใจ (เว้นแต่ผู้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดเป็นการส่วนตัวเท่านั้น)

จุดประสงค์ของการกินเจ
ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
  1. กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
  2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา
  3. กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น
อาหารเจ
อาหารเจเป็นอาหารที่ปรุงขึ้นโดยไม่มีเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ (เช่น นม ไข่ น้ำผึ้ง น้ำปลา เจลาติน คอลลาเจน) และไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หอม (ทุกชนิดอาทิ ต้นหอม หัวหอม หอมแดง) หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ เพราะผักเหล่านี้ทำอันตรายต่ออวัยวะในร่างกาย กระเทียมให้โทษต่อหัวใจ หอมให้โทษต่อไต หลักเกียวให้โทษต่อม้าม กุยช่ายให้โทษต่อตับ และใบยาสูบให้โทษต่อปอด บ้างเชื่อว่าผักเหล่านี้เพิ่มความกำหนัดหรือมาจากเลือดของสัตว์ตามตำนานจีน ทำให้อาหารเจไม่มีกลิ่นคาว เนื่องจากการงดเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้ที่กินเจหันมาบริโภคธัญพืชในธรรมชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งโปรตีน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง[4] โดยในประเทศจีน พบว่ามีภัตตาคารบางแห่งซึ่งบริการ "ปรุงอาหารตามใบสั่งแพทย์" (กล่าวคือ ผู้ที่เข้ามารับประทานจะต้องได้รับใบสั่งอาหารของแพทย์เสียก่อน) โดยลูกค้าของภัตตาคารดังกล่าวเป็นคนไข้ที่กำลังเข้ารับ "การบำบัดโรคด้วยอาหารตามหลักเวชศาสตร์โบราณ" หลังเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว[4]

หลักธรรมในการกินเจ
ในทัศนะของคนกินเจ การกินที่ทำให้ชีวิตผู้อื่นต้องเดือดร้อนล้มตายนั้น “มันมากเกินไป” ทั้งๆ ที่มนุษย์กินแต่อาหารพืชผักก็สามรถมีชีวิตอยู่ได้
การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเองและดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กล่าวคือ
  1. ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน
  2. ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน
  3. ไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตน
การรับประทานสิ่งใดก็ตามที่ทำลายสุขภาพร่างกายของตนให้ทรุดโทรม คือ การเบียดเบียนตนเอง ปัจจุบันวิทยาการเจริญก้าวหน้าได้พิสูจน์ยืนยันว่าเลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย
ดังนั้นการกินเจจึงไม่ใช่เพื่อให้เกิดผลดีต่อจิตใจเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีสุขภาพพลานามัยที่ดีอีกด้วย ร่างกายและจิตใจเป็นของคู่กันมีความสัมพันธ์ส่งผลถึงกันคนเราย่อมไม่อาจจะรู้สึกเบิกบานสดชื่นร่าเริงได้ในขณะที่ร่างกายเจ็บป่วยทรุดโทรมย่ำแย่

การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วยสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้
  1. รับประทาน "อาหารเจ"
  2. งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
  3. รักษาศีลห้า
  4. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
  5. ทำบุญทำทาน
  6. นุ่งขาวห่มขาว
สำหรับผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยมแยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุดตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับเพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้องตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด

สี
สีในเทศกาลกินเจ:
สีแดง เป็นสีที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีศิริมงคล ดังจะเห็นได้ว่าในงานมงคลต่างๆ ของคนจีนไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง วันตรุษจีน
สีเหลือง เป็นสีสำหรับใช้ในราชวงศ์ซึ่งอนุญาตให้ใช้ได้เพียงคนสองกลุ่มเท่านั้น กลุ่มแรกคือกษัตริย์ซึ่งเห็นได้จากหนังจีน เครื่องแต่งกายและภาชนะต่างๆ เป็นสีเหลืองหรือทองซึ่งคนสามัญห้ามใช้เด็ดขาด กลุ่มที่สองคืออาจารย์ปราบผีถ้าท่านสังเกตในหนังผีจีนจะเห็นว่าเขาแต่งกายและมียันต์สีเหลือง
สีขาว ตามธรรมเนียมจีนสีขาวคือสีสำหรับการไว้ทุกข์ สีดำที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้เป็นการรับวัฒนธรรมตะวันตก ถ้าท่านสังเกตในพิธีงานศพของจีนจะเห็นลูกหลานแต่งชุดสีขาวอยู่
สีซึ่งกล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถนำไปเชื่อมโยงในตำนานข้างต้นที่กล่าวมาได้ทั้งหมด



อ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%88